Thursday, April 24, 2014

วิธีเพาะปลาทอง

วิธีเพาะปลาทอง...มือใหม่ก็ทำได้




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เชื่อว่าคนที่เคยเลี้ยงปลาทองจำนวนไม่น้อย คงเคยคิดอยากให้ปลาตัวโปรดของคุณออกลูกออกหลานมาให้ชื่นชมกันบ้างใช่ไหมล่ะคะ แต่ไม่ว่าจะหาคู่ หรือพยายามจับคู่ให้เจ้าปลาทองสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่เห็นเจ้าลูกตัวน้อย ๆ ของมันสักที...เฮ้อ!!!!

          อ่ะ อ่ะ...อย่าเพิ่งท้อ ถึงจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้ามือใหม่จะหัดเพาะปลาทองกับเขาดูบ้าง ซึ่งหากได้เรียนรู้ วิธีเพาะปลาทอง อย่างถูกต้อง นอกจากจะได้ลูกปลาทองตัวน้อย ๆ ไว้ดูเล่นแล้ว ผลิตผลจาก การเพาะพันธุ์ปลาทอง ยังสามารถนำออกขายเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย ว่าแต่ วิธีเพาะปลาทอง มีขั้นตอนอย่างไร และ วิธีเพาะปลาทอง ผู้เลี้ยงจะต้องเตรียมใจกับเรื่องอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยยย

          ก่อนที่จะไปเรียนรู้ วิธีเพาะปลาทอง ผู้เลี้ยงควรสำรวจก่อนว่า มีพื้นที่และอุปกรณ์ในการเลี้ยงเพียงพอหรือไม่ เพราะในการรีดไข่ปลาแต่ละครั้งนั้น จะได้ลูกปลาไม่ต่ำกว่า 2,000-4,000 ตัว ขณะเดียวกัน การอนุบาลลูกปลาทอง ก็จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพราะนั่นมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกปลา รวมถึงเวลาในการดูแลที่ต้องมีเวลาในให้อาหารสม่ำเสมอและเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาดอยู่ตลอดเวลาด้วย

หลักการสำคัญ การเพาะปลาทอง 

           ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แนะนำให้ใช้ตัวผู้ 2 ตัว ต่อตัวเมีย 1 ตัว เนื่องจากน้ำเชื้อตัวผู้เพียงตัวเดียวจะไม่เพียงพอกับไข่ปลาตัวเมียที่สมบูรณ์เพียงตัวเดียว

          การเพาะปลาทอง ควรใช้ปลาทองพันธุ์เดียวกันเป็นพ่อแม่พันธุ์ แม้ว่าปลาทองทุก ๆ พันธุ์จะสามารถผสมกันได้ แต่ก็จะได้ลูกปลาที่มีลักษณะแปลก ๆ ไม่สวยงามตามที่นักเลี้ยงปลานิยม แต่หากท่านอยากจะทดลองเพาะดูเพื่อศึกษาเองก็ไม่ผิดกติกาอันใด

           ควรจัดภาชนะที่ใช้เพาะปลาโดยเฉพาะ ซึ่งมีเนื้อที่อย่างน้อย 1 ตารางเมตร และลึก 20 เซนติเมตร บ่อเพาะควรล้าง และทำความสะอาดอย่างดี ไม่มีศัตรูของปลา เช่น ปลาเล็ก ๆ หรือหอย ฯลฯ

           ไข่ปลาทอง เป็นไข่ ประเภทไข่ติด ดังนั้น การเพาะพันธุ์ ควรใช้สาหร่าย หรือเชือกฟางพลาสติกเป็นวัสดุที่ให้ไข่เกาะ

           เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยปลาลงบ่อเพาะควรเป็นเวลาเย็น เพื่อให้ปลาผสมพันธุ์วางไข่ในเช้ารุ่งขึ้น

           ไม่ต้องให้อาหารปลาในขณะเพาะพันธุ์ แต่ควรให้ออกซิเจนหรือปั๊มอากาศในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าจะมีออกซิเจนในน้ำเพียงพอ

           หลังจากที่ปลาวางไข่แล้วให้ย้ายพ่อแม่ปลาออก แล้วย้ายไข่ไปฟักในภาชนะที่มีน้ำคุณภาพดี ส่วนน้ำในบ่อเพาะควรเปลี่ยน และเปิดออกซิเจนให้แรงให้ออกซิเจนเพียงพอ เพราะยังมีไข่ผสมแล้ว ร่วงอยู่ที่พื้นจำนวนมาก

           ไข่ปลาทองมีสีเหลืองโปร่งแสง เวลาฟักเป็นตัวเวลา 2 วัน ในอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส ลูกปลาวัยอ่อนจะใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดตัวประมาณ 3-4 วัน หลังจากนั้น จะเริ่ม กินอาหารขนาดเล็ก ๆ เช่น ไรน้ำ

           ลูกปลาจะออกช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำด้วย ถ้าอุณหภูมิของน้ำค่อนข้างเย็น ลูกปลาจะออกช้าซึ่งเป็นผลดี เพราะการที่ลูกปลาอยู่ในไข่นานจะทำให้การพัฒนาเป็นตัวมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

           ลูกปลาที่ได้รับการดูแลอย่างดี จะมีขนาด 1-2 นิ้ว ในเวลา 2 เดือน


วิธีเพาะปลาทอง มี 2 แบบ คือ

          1. วิธีเพาะปลาทอง แบบธรรมชาติ  เป็นวิธีการเพาะพันธุ์ปลาทองแบบง่ายและประหยัด คือการปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ผ่านการคัดเลือกไว้ ให้ผสมพันธุ์กันเอง โดยตัวผู้จะไล่ตอดตัวเมียเพื่อให้ไข่หลุดออกมาจากท้องตัวเมีย หลังจากนั้นจะทำการฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมไข่ที่หลุดออกมา ในบ่อผสมพันธุ์ควรจะมีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น สาหร่ายหรืออาจจะใช้เชือกฟางฉีกเป็นฝอยเพื่อให้ไข่ปลาเกาะติด เพื่อป้องกันการกินไข่ของพ่อแม่ปลาทองนั่นเอง ส่วนระยะเวลาในการผสมพันธุ์ อาจใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ปลาจึงวางไข่หมด โดยปริมาณไข่จะขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา

          2. วิธีเพาะปลาทอง แบบผสมทียม เป็นวิธีที่จะทำให้ได้อัตราการฟักไข่สูงกว่าการเพาะพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ แต่ขั้นตอนจะยุ่งยากกว่า หลังจากที่เตรียมอ่างเพาะหรือบ่อเพาะปลาแล้ว ให้ตรวจความพร้อมของแม่ปลา ซึ่งหากแม่ปลาพร้อมวางไข่ ท้องจะป่อง ๆ นิ่ม ๆ จากนั้นก็ทำการรีดไข่ โดยให้เตรียมกะละมังขาวใส่น้ำสะอาด (ปราศจากคลอรีน) นำแม่พันธุ์มาอยู่ในกะละมัง พยายามจับเบา ๆ อย่าให้แม่ปลาทองตกใจ จากนั้นให้นำพ่อปลาทองมาใส่รวมกัน เมื่อแม่ปลาหายตื่นตกใจให้เริ่มทำการรีดไข่ปลา

          ทั้งนี้ ขั้นตอนการรีดไข่ ปลาทอง ต้องทำอย่างรวดเร็วและนุ่มนวล เพราะปลาอาจบอบช้ำถึงตายได้ เมื่อรีดไข่ปลาเสร็จแล้วให้รีบคลุกเคล้าไข่กับน้ำเชื้อให้เข้ากัน เพื่อให้น้ำเชื้อของปลาตัวผู้ไปผสมกับไข่ของปลาตัวเมียได้อย่างทั่วถึง จากนั้นล้างไข่ด้วยน้ำสะอาด 1-2 ครั้ง เมื่อไข่ถูกน้ำจะดูดซึมน้ำเข้าไปในเซลล์และมีสารเหนียว ๆ ทำให้ไข่ติดกับกาละมัง โดยไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อจะมีลักษณะใสวาว ๆ สีเหลือง ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีสีขาวขุ่น


วิธีสังเกตปลาที่พร้อมผสมพันธุ์

 ปลาตัวเมีย

          1. ท้องจะกางออกมากกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด และมีสีเข้มมากกว่าปกติ

          2. เมื่อเวลาเอามือลูบที่ท้องจะรู้สึกนิ่มกว่าปกติ และมักมีเมือกปกคลุม

          3. บริเวณรอบรูทวารของปลาตัวเมียจะมีสีชมพูเรื่อๆ โดยรอบ และเมื่อใช้มือรีดเบาๆ จะมีไข่ปลาทะลักออกมา

 ปลาตัวผู้

          1. ปลาจะรู้สึกคึกคักและกระปรี้กระเปร่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าภายในบ่อเลี้ยงมีปลาตัวเมียอยู่ด้วย

          2. บริเวณเหงือกจะมีเม็ดตุ่มเล็ก ๆ เมื่อใช้มือลูบจะรู้สึกสาก

          3. บริเวณครีบอกจะมีตุ่มสีขาวปรากฏให้เห็น

          4. เมื่อใช้มือรีดที่ท้องปลาเบา ๆ ปลาที่พร้อมจะผสมพันธุ์จะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา

การเลี้ยงปลาทอง

แนะวิธีเลี้ยงปลาทองอย่างถูกต้อง




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ปลาทอง เป็นปลาสวยงามอันดับต้น ๆ ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง เพราะสวยงามและดูมีชีวิตชีวา แถมชื่อยังเป็นมงคลอีกด้วย นักเลี้ยงปลาทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น จึงเลือกเลี้ยงเจ้าปลาชนิดนี้ไว้ดูเล่นกันเป็นจำนวนมาก

          แม้ว่าปลาทอง จะเป็นปลาสวยงามที่เลี้ยงไม่ยาก แต่หลายต่อหลายคนก็อกหักจากการเลี้ยงปลาทองมาแล้วไม่น้อย เนื่องจากปลาทองจัดเป็นปลาที่ตายได้ง่าย ๆ หากไม่รู้วิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง และวันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ ในการเลี้ยงมาฝากกัน

          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักปลาทองที่ได้รับความนิยมเลี้ยงในไทย แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์คือ 

          1.ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ มีลักษณะเด่นบริเวณหัว ที่จะมีก้อนเนื้อหุ้มอยู่คล้ายสวมหัวโขน

          2.ปลาทองพันธุ์ออรันดา ลำตัวค่อนข้างยาว ครีบหางอ่อนช้อยเป็นพวงสวยงาม

 ภาชนะที่ใช้เลี้ยง

          ในการเลี้ยงปลาทองให้สุขภาพแข็งแรง และมีสีสันสดใส จำเป็นต้องใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่สถานที่เลี้ยง และภาชนะที่ใช้เลี้ยง โดยทั่วไปนิยมเลี้ยงในตู้กระจกใส และอ่างซีเมนต์ หากเลี้ยงในตู้กระจกควรเลือกขนาดที่มีความจุของน้ำอย่างน้อย 40 ลิตร ใช้เลี้ยงปลาทองได้ 12 ตัว แต่ถ้าเลี้ยงในอ่างซีเมนต์ ต้องคำนึงถึงแสงสว่าง ควรเป็นสถานที่ไม่อับแสง และแสงไม่จ้าจนเกินไป ทั้งนี้ ควรใช้ตาข่ายพรางแสง ประมาณ 60% ปิดปากบ่อ ส่วนสภาพของบ่อเลี้ยงควรสร้างให้ลาดเอียง เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ
   
 การให้อาหาร

          แนะนำว่าควรให้อาหารสำเร็จรูป วันละ 1-2 ครั้ง โดยการให้แต่ละครั้งไม่ควรมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ปลาทองอ้วน และเสี่ยงตายได้ เนื่องจากปลาทองค่อนข้างกินจุ ดังนั้นอย่าตามใจปากปลาทอง ส่วนอาหารเสริมอย่างลูกน้ำและหนอนแดง สามารถให้เสริมได้โดยดูความอ้วนและความแข็งแรงของตัวปลา ลักษณะปลาที่ตัวใหญ่หรืออ้วน สังเกตได้จากบริเวณโคนหางจะใหญ่แข็งแรงและมีความสมดุลกับตัวปลา และเมื่อมองจากมุมด้านบนจะสังเกตเห็นความกว้างของลำตัวอ้วนหนาและบึกบึน ขณะที่สีบนตัวปลาจะต้องมีสีสดเข้ม

 คุณภาพของน้ำ

          น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด น้ำประปาที่ใช้เลี้ยงต้องระวังคลอรีน ควรเตรียมน้ำก่อนนำมาใช้เลี้ยงปลาทุกครั้ง โดยเปิดน้ำใส่ถังเปิดฝาวางตากแดดทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนระเหย หรืออาจติดตั้งเครื่องกรองน้ำใช้สารเคมีโซเดียมไธโอซัลเฟตละลายลงในน้ำ มีคุณสมบัติในการกำจัดคลอรีน แต่ควรดูสัดส่วนในการใช้ เพราะสารเคมีพวกนี้มีผลข้างเคียงต่อปลาหากใช้ไม่ถูกวิธี 

 อากาศหรือออกซิเจนในน้ำ

          ปลาทองส่วนใหญ่เคยชินกับสภาพน้ำที่ต้องมีออกซินเจน ดังนั้น อย่างน้อยในภาชนะเลี้ยงต้องมีการหมุนเวียนเบา ๆ ไม่ว่าจะผ่านระบบกรองน้ำ น้ำพุ น้ำตก หรือปั๊มน้ำ เพราะการหมุนเวียนของน้ำ เป็นการทำให้เกิดการเติมออกซิเจน และปลาทองขนาดใหญ่ย่อมต้องการออกซิเจนมากกว่าปลาเล็ก ส่วนเรื่องอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมคือ 28-35 องศาเซลเซียส แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาอุณหภูมิของน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว หากซื้อปลาบรรจุถุงมา เวลาจะปล่อยปลาลงในอ่างเลี้ยง ควรแช่ถุงลงในอ่างเลี้ยง 10-15 นาที เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำในถุงกับในอ่างถ่ายเทเข้าหากันจนใกล้เคียงกัน แล้วค่อยปล่อยปลาลงไป

          การเลี้ยงปลาทอง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใส่ใจกับภาชนะเลี้ยง สภาพน้ำ การให้อาหาร และหมั่นสังเกตเจ้าปลาตัวโปรดของคุณอย่างสม่ำเสมอ ก็จะได้ปลาทองสวย ๆ ไว้เชยชมไปนาน ๆ 

ปลาทอง

6 สายพันธุ์ปลาทองยอดฮิต




6 สายพันธุ์ปลาทองยอดฮิต (โลกสัตว์เลี้ยง)

          ทราบไหมว่าปัจจุบันสายพันธุ์ปลาทองที่นิยมเลี้ยงมีด้วยกันกี่สายพันธุ์ และแต่ละลายพันธุ์มีเอกลักษณ์จุดเด่นเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง ขอเฉลยเลยละกัน สายพันธุ์ปลาทองที่มีความนิยมเลี้ยงกันในปัจจุบันมีด้วยกันทั้งหมด 6 สายพันธุ์ แต่โปรดเข้าใจความหมายของคำว่ายอดนิยมกันก่อนนะว่าผู้เขียนหมายถึง ปลาทองที่คนทั่ว ๆ ไปนิยมซื้อไปเลี้ยง ไม่ใช่สายพันธุ์ที่บรรดานักนิยมปลาทองมืออาชีพนิยมเลี้ยงเพื่อการประกวดประชันขันแข่งกันเป็นสายพันธุ์ปลาทองที่หากเราไปเดินตามตลาดปลาสวยงาม หรือ ร้านขายปลาสวยงาม ก็มักจะพบเห็นกันเป็นประจำ ซึ่ง 6 สายพันธุ์ที่ว่า ได้แก่...


ปลาทองฮอลันดา
ปลาทองฮอลันดา

ปลาทองฮอลันดา
ปลาทองฮอลันดา

 1. ฮอลันดาปักกิ่ง

          เป็นปลาทองที่มีขนาดลำตัวเล็ก ตัวกลมสั้นป้อม หลังยกสูงเหมือนหลังอูฐ หัววุ้นที่ขึ้นจะเป็นวุ้นที่ละเอียดเม็ดเล็กๆ มีสัดส่วนวุ้นแบ่งเป็นวุ้นเคี้ยว ซึ่งจะอยู่บริเวณมุมปากของปลา ซึ่งจะมองแล้วคล้ายวงช้าง ทำให้มองดูปลาแล้ว เหมือนแก้มยุ้ย ช่วงลำตัวจะกลมเหมือนลูกกอล์ฟ ช่วงท้องจะใหญ่กลมมาก ใบหางของเจ้าปักกิ่งนั้น ใบหางบนยกสูง 40-60 องศา และใบหางล่างกดลง 50-70 องศา เนื่องจากปักกิ่ง มีสัดส่วนที่กลมเพราะฉะนั้นใบหางปลาจะมีการสมดุล กับ body สันหลังที่อยู่ส่วนบนของลำตัวจะยกสูงโค้งจรดโคนหางกระโดงหลังจะตั้งตรงเหมือนกระโดงเรือ ส่วนเกล็ดจะเป็นเกล็ดที่มีขนาดเล็กละเอียดแน่น และที่สำคัญจะต้องยืนน้ำตัวตั้งตรงกับพื้นน้ำ ครีบทวารเหยียดตรง

 2. ฮอลันดายักษ์

          ลักษณะลำตัวใหญ่ ช่วงตัวยาวหนาใหญ่ ลักษณะวุ้นที่ขึ้นค่อนข้างเป็นลักษณะเรียบไม่ฟูมาก จะเป็นลักษณะกระชับ วุ้นจะขึ้นไม่มากจนขนาดปิดตา แต่จุดสำคัญวุ้นด้านแก้มปลาฮอลันดายักษ์นั้นจะเรียบ โครงสร้างของครีบจะมีแก่นกระดูก เช่น กระโดง ครีบหาง เป็นลักษณะแก่นแข็งเส้นใหญ่ บริเวณใบหางจะมีความหนาดูแล้วมีพลังเมื่อมีการว่ายน้ำ ลักษณะที่ดีของฮอลันดายักษ์จะต้องมีขนาดใหญ่ ลำตัวใหญ่ ปากกว้างวุ้นขึ้นเหมือนมงกุฎสวยใส่ที่หัว เกล็ดจะมีขนาดใหญ่ ช่วงระย่ะหางของเกล็ดจะไม่ถี่มากจะมีช่วงกว้างพอสมควร ซึ่งเมื่อใช้มือสัมผัสก็จะรู้สึกของความนูนของเกล็ด

 3. สิงห์ญี่ปุ่น




          ก่อนอื่นเรามาพูดถึงเรื่องของเกล็ดปลากันก่อน เนื่องจากปลาสิงห์ญี่ปุ่นจะมีลักษณะของเกล็ดที่แตกต่างมาก จะมีผิวที่เรียบเนียนเงาเหมือนกระจกเงาและเรียบมาก เมื่อสัมผัสกับแสงแดดจะเป็นเงาสะท้อนออกมา หัวปลามีขนาดเล็กมีวุ้นที่เป็นลักษณะเด่นคือ มีวุ้นยื่นออกมาบริเวณปากมองแล้วคล้ายงวงช้าง วุ้นส่วนกระหม่อมปลาจะแบ่งเป็นสัดส่วนเหมือนกล้ามหน้าท้องของคน ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 6 ก้อน หรือ 8 ก้อน เป็นลูกๆ หลังโค้งสูงเป็นครึ่งวงกลม ความหนาช่วงหัวกับลำตัวจะมีขนาดเท่ากัน สันหลังโค้งจรดใบทางชิดกันพอดี ทำมุม 60-80 องศา ช่วงข้อหางจะคลุมครีบทวารพอดี


 4. สิงห์ลูกผสม (สิงห์จีน)




          เป็นปลาที่มีความนิยมมากในหมู่เด็กๆ เนื่องจากมีวุ้นที่ฟูฟ่องออกมาจำนวนมากขนาดปิดตา เป็นวุ้นก้อนใหญ่แบบหยาบไม่ละเอียดมากนัก ความน่ารักจะอยู่ที่หน้าตากลมวุ้นเยอะมาก ลำตัวจะอ้วนมากสันหลังจะไม่โค้งเหมือนครึ่งวงกลม แต่มีช่วงตัวที่ยาวกว่าสิงห์ญี่ปุ่น เกล็ดจะเป็นลักษณะหยาบไม่แววใสมีเยื่อหุ้มเกล็ดบางๆ ปลาบางตัวจะมีหลังยาวเหมือนกระดานด้วยซ้ำ

 5. สิงห์ดำ (สิงห์สยาม)




          จะมีลักษณะคล้ายสิงห์วุ้นลูกผสม แต่ลำตัวจะมีสีดำวุ้นก็จะดำด้วย ส่วนช่วงท้องของปลาสิงห์ดำจะมีสีทองออกเทาหรือดำสนิทก็ได้ ซึ่งปลาชนิดนี้จะต้องมีวุ้นขึ้นตกจนขนาดมิดตา ผิวหนังของสิงห์ดำจะมีเยื่อบางๆ ปกคลุมมีสีดำ เมื่อเกิดรอยแผลสักเล็กน้อยก็จะเห็นได้เด่นชัดขึ้นหลังมีความโค้งสวย ซึ่งมีความโค้งเทียบเท่ากับสิงห์ญี่ปุ่น แต่ความหนาลำตัวจะไม่ค่อยหนามากนักในตอนเล็ก แต่เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่ตามลำดับ ซึ่งสิงห์ดำนั้นจะมีส่วนที่ดำทั้งตัวตั้งแต่ครีบว่าย, ครีบอก, ครีบหาง, เหงือกปลา, วุ้นและผิวเมือกปลาจะมีสีดำทั้งหมด

 6. ริวกิ้น


ปลาทองริวกิ้น

          มีตัวที่กลมเหมือนลูกบอลและมีกระโดงที่สูงเหมือนเสากระโดงเรือแก่นกระดูก ครีบกระโด่งจะใหญ่และแข็งมาก ช่วงหัวปลาริวกิ้นจะมีขนาดเล็กเหมือนหน้าหนูเป็นแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว จะมีหลังที่เหมือนอูฐ (โหนกสูง) จะหักรับกับช่วงหัวพอดีซึ่งส่วนต่างๆ ของปลาริวกิ้นนี้จะคล้ายกับฮอลันดาปักกิ่งแทบทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือ ปลาประเภทนี้จะไม่มีหัววุ้น ลักษณะที่สวยก็คือตัวจะต้องกลมยืนน้ำต้องตั้งตรงอยู่แนวขนานกับระดับน้ำ และโหนกจะต้องสูงหักงุ้มและสันโหนกจะต้องโค้งได้รูปเป็นครึ่งวงกลมจรดปลายหางปลาพอดี ใบหางล่างจะต้องคลุมครีบทวารพอดี

          นี่แหละคือ 6 สายพันธุ์ปลาทองยอดนิยมในยุคนี้ คงพอจะทำให้ผู้อ่านรู้จักลักษณะสายพันธุ์ของปลาทองมากขึ้น และหวังว่าจะเป็นข้อมูลในการช่วยให้ท่านผู้อ่านนักรักปลาทองตัดสินใจเลือกสายพันธุ์ปลาทองที่ถูกใจมาเลี้ยงได้อย่างมีความสุข